ผู้นำกับการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย

ผู้นำกับการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย

Leaders and Conflict Management of Political Conflict in Thailand

 

จารวี ภักดีดำรงกุล [1] 

Charavee Pakdidhumrongkul

 

สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

Division of Leadership in Society, Business and Politics College of Social Innovation, Rungsit University

 

บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง “ผู้นำกับการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง” เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างผู้นำและผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมือง นักวิชาการและสื่อมวลชนและการค้นคว้าจากเอกสารโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณลักษณะ พฤติกรรมการจัดการความขัดแย้งของผู้นำแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของผู้นำ  และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต ผลการวิจัยพบว่า มุมมองของผู้นำต่อการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง คือการนำนโยบายจากภาครัฐมาปฏิบัติโดยบังคับใช้กฏหมาย คุณลักษณะของผู้นำที่เหมาะสมในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน คือต้องกล้าตัดสินใจและต้องมีคุณธรม จริยธรม ส่วนระดับทักษะการแก้ปัญหาในการจัดการความขัดแย้งของผู้นำอยู่ในระดับปานกลาง มีการมอบหมายการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้หน่วยงานที่มีหน้าทีและหน่วยงานเฉพาะกิจ พฤติกรรมของผู้นำในการจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นการเอาชนะกัน  ปัญหาในด้านการไว้วางใจในตัวผู้นำที่มีบทบาทในการจัดการความขัดแย้ง  ส่งผลกระทบมาก ทำให้แต่ละฝ่ายไม่สามารถเจรจากันได้ แนวทางในการดำเนินนโยบายและการให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันควรกำหนดนโยบายการจัดการความขัดแย้ง    โดยมีการสื่อสารจากภาครัฐสู่ประชาชนและเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อจัดการความขัดแย้งทางการเมือง

คำสำคัญ: ผู้นำ,การจัดการความขัดแย้ง, ความขัดแย้งทางการเมือง

 

ABSTRACT

The study of “Leaders and Conflict Management of Political Conflict in Thailand ” is the qualitative research proceeding by gathering information from in-depth interview with the representative group of leaders and political influencers, academicians and media. The objective is to study the Conflict management behaviors of leaders and ways to manage conflict guidelines for management of political conflict in the future. The results show that the Perspective of leaders to manage political conflict is the policy of the government to abide by applicable laws. The characteristics of the ideal leader to manage the current political conflict must be decisive with the moderate moral level of problem solving skills in conflict management leaders. The task of political conflict remedy must be given to the responsible agency and particular specialized agency. The previous behavior of leaders in managing the conflict was defeating problems. This greatly affects the trust of the leader’s role in conflict management and leadership. This also causes the negotiation conflict in each party on the issue of guidelines for the implementing policies and cooperating to resolve the current political disputes. Conflict management policy should be communicated by the government to citizens and public open space for political action focused only on overcoming. Furthermore, the problem of trust in individual has become a major impact. Thus, the solution is the use of peace method by adopting rule of law, rule by law, principle of justice, virtue and morality by cooperation from the government and the relevant parties.

Key Words: Leader, conflict management, political conflict

[1] นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

บริษัทเกษตรศิลป์อินเตอร์เนชั่นแนล 11 ซอย สามัคคี 63 ถนน สามัคคี ตำบล ท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000

Kasetsil International 11 Samakkee 63 Samakkee,Rd Tasai Muang Nonthaburi 11000

e-mail address: [email protected]

 

บทนำ

 

ความสำคัญของปัญหา

 

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้าน เศรษฐกิจ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสังคม โดยแฉพาะอย่างยิ่งทางด้านของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากด้านต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ทำให้คนในสังคมมีแนวคิดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและแนวทางการดำรงชีวิตที่ต้องปรับให้เข้ากับสังคม ซึ่งปัจจุบันเป็นสังคมแห่งยุค โลกาภิวัฒน์ และโลกแห่งยุคข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงระดับบุคคล โดยบางครั้งข้อมูลนั้นๆ ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง และอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงทำให้สังคมเกิดความสับสน ซึ่งผลที่ตามมาคือความขัดแย้งทางสังคม และที่สำคัญคือในเรื่องของแนวความคิดทางการเมืองที่เป็นความขัดแย้งอันเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก

ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกระแสของโลกาภิวัฒน์ เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางแนวความคิด  เนื่องจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีการบริหารประเทศโดยคณะรัฐบาล ซึ่งผู้นำในแต่ละรัฐบาลก็มีแนวคิดแนวทางในการบริหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ ก็ย่อมมีการต่อต้านและในหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดการต่อต้านจนเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง

“ผู้นำ” ระดับสูงที่มีหน้าที่ในการบริหารประเทศในภาครัฐ ทั้งข้าราชการ และข้าราชการการเมืองเป็นผู้มีบทบาทในการที่จะพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่เจริญก้าวหน้า แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงพ.ศ. 2553 นั้น ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำระดับสูงของประเทศ คือ นายกรัฐมนตรี และรวมถึงข้าราชการระดับสูง ซึ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ก็ไม่ได้มีการจัดการความขัดแย้งที่เหมาะสม จึงทำให้ประเทศอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของคนในสังคมโดยที่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถจัดการได้

 

วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2547-2553 คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุที่เริ่มต้นมาจากหลายฝ่าย ซึ่งมีความเห็นว่า พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร ควรลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นผู้นำทางการเมืองที่ขาดจริยธรรม ในขณะที่คนจำนวนมากอีกกลุ่มกลับให้ความสนับสนุน พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพันธมิตรอย่างล้นหลาม ด้วยความเชื่อมั่นว่า พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ  ชินวัตร คือตัวแทนระบบทางการเมืองที่พึงปรารถนา  จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่เหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549 และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นด้วยรูปแบบและวิธีการต่างอย่างหลากหลาย

ก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศชาติในหลายๆ ด้านอย่างคาดไม่ถึง

เมื่อพิจารณาความขัดแย้งและการแบ่งฝ่ายของคนในสังคมที่ไม่เคยมีมาก่อนในห้วงเวลาที่ผ่านมา และดูจะยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประเทศในด้านต่างๆ ในวงกว้างระหว่างกลุ่มตัวแสดงหลักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านผู้นำ ที่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง งานวิจัยเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในด้านของ ผู้นำกับความขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงปี พ.ศ. 2547- 2553 รวมทั้งเสนอทางออกเพื่อยุติความขัดแย้ง และการนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งสันติสุข ทั้งนี้โดยผู้วิจัยจะทำการศึกษา ในประเด็น ของ ผู้นำกับการจัดการความขัดแย้งทั้งด้านการกำหนดนโยบาย และพฤติกรรม รวมถึงการสร้างความไว้วางใจที่นำมาใช้ในการจัดการความขัดแย้ง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

 

      1.  เพื่อศึกษาคุณลักษณะ และพฤติกรรมการจัดการความขัดแย้งของผู้นำ

2. เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของผู้นำระหว่าง พ.ศ. 2547 – 2553 และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต

 

คำถามในการวิจัย

 

  1. มุมมองของผู้นำต่อการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง
  2. คุณลักษณะของผู้นำที่เหมาะสมในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
  3. ระดับทักษะการแก้ปัญหาในการจัดการความขัดแย้งของผู้นำอยู่ในระดับใด
  4. พฤติกรรมของผู้นำในการจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นย่างไร ( การเอาชนะ การร่วมมือ การประนีประนอม การหลีกเลี่ยง การยอม    ให้ )  และส่งผลกระทบอย่างไร
    1. ปัญหาในด้านการไว้วางใจในตัวผู้นำที่มีบทบาทในการจัดการความขัดแย้ง
    2. แนวทางในการดำเนินนโยบายและการให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

แนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

ทฤษฎีสำคัญที่นำมาใช้ในการวิจัย ได้แก่

1. ทฤษฎีคุณลักษณะเด่น (Trait Theory) ประกอบด้วย 5 คุณลักษณะ ได้แก่

  1. ความฉลาดทางปัญญา (Intelligence)
  2. ความมั่นใจในตัวเอง (Self-confidence)
  3.  อำนาจการตัดสินใจ (Determination)
  4. ประพฤติอยู่ในคุณธรรมจริยธรรม (Integrity)
  5. การเข้าสังคม (Sociability)

2. แนวคิดพื้นที่สาธารณะทางการเมือง (Politic public sphere )  

พื้นที่สาธารณะ (public sphere)   คือ อาณาบริเวณที่ซึ่งสมาชิกในสังคมสามารถสรรสร้าง หรือแลกเปลี่ยนความคิด  แต่หากจะอธิบายอย่างละเอียดยิ่งขึ้นก็ต้องเริ่มท้าวความว่าเป็นความคิดที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Jürgen Harbermas

นักปรัชญาชาวเยอรมัน โดยฮาเบอร์มาสได้อธิบายถึงกระบวนการเกิดสำนึกสาธารณะ (สำนึกส่วนรวม) ว่า มาจากการที่ปัจเจกบุคคลใช้ความรู้ และแสดงออกทางความคิดอย่างมีเหตุผล อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ทำให้ให้สาธารณชน (public) เริ่มสามารถเข้าถึงและยึดครองมณฑลสาธารณะที่เคยถูกควบคุมโดยรัฐได้ และต่อมาพื้นที่ดังกล่าวก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่ของการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์การเมือง รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์ตัวอำนาจรัฐด้วย พื้นที่สาธารณะจึงกลายเป็นอำนาจใหม่ที่ท้าทายอำนาจเดิมของสังคมศักดินาในยุโรป การแปลงรูปของพื้นที่สาธารณะที่อดีตเคยผูกขาดอยู่แต่เฉพาะคนบางกลุ่มมาสู่มวลชน โดยจะนำเนื้อหาในส่วนของด้านพื้นที่สาธารณะทางสังคม มาใช้ในการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยดังหัวข้อต่อไปนี้

โครงสร้างการแปลงรูปของพื้นที่สาธารณะ (The Structural transformation of the Public Sphere) Jürgen Harbermas (1991)

1. การแบ่งเขตพื้นที่สาธารณะเบื้องต้นประเภทชนชั้นกลาง ( Preliminary demarcation of a type bourgeois public sphere)

2.  โครงสร้างทางสังคมของพื้นที่สารณะ (social structure of the public sphere)

3. บทบาททางการเมืองของ นโยบายสาธารณะ (Political Functions of the Public Sphere)

4. ความเป็นกลางของพื้นที่สาธรณะ ความคิดและอุดมการณ์ (The Bourgeois Public Sphere : Idea and Ideology)

5. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมของพื้นที่สาธารณะ (The Social-Structural Transformation of the Public Sphere)

6. การเปลี่ยนแปลงของบทบาททางการเมืองของพื้นที่สาธารณะ (The transformation of the Public Sphere’s Political Function)

7.  แนวคิดของความคิดเห็นสาธารณะ (On the Concept of public opinion)

3. รูปแบบการจัดการความขัดแย้งของ Christopher Moore  แบ่งออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่ (วันชัย วัฒนศัพท์ ,2550)

1. ความขัดแย้งด้านข้อมูล (Data Conflict)

2. ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ (Interests Conflict)

3. ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง (Structural Conflict)

4. ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ (Relationship Conflict)

5. ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Values Conflict)

4. วอร์เชล  (Worechel, 1979)  ได้กล่าวถึงมุมมองของความไว้วางใจ ไว้ดังนี้

  1. เป็นมุมมองของทฤษฎีที่ดูเรื่องบุคลิกภาพ ซึ่งพุ่งเป้าหมายไปที่บุคลิกลักษณะส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน

ในความพร้อมที่จะไว้วางใจ และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมด้านสังคม ที่นำไปสู่ความพร้อม

  1. เป็นมุมมองของนักสังคมวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งพุ่งประเด็นไปที่ความไว้วางใจในลักษณะของปรากฏการณ์ของสถาบัน
  2. เป็นมุมมองของนักจิตวิทยาสังคม ซึ่งพุ่งความสนใจไปสู่การติดต่อหรือการดำเนินการระดับบุคคลระหว่างปัจเจกที่อาจสร้าง หรือทำลายความไว้วางใจในทั้งระดับระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่ม

5. ทฤษฏีของ Thomas Kenneth ที่ได้จำแนกพฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกเมื่อเผชิญกับความขัดแย้ง ( เสริมศักดิ์

วิศาลาภรณ์ ,2540)

  1. การเอาชนะ (Competition)
  2. การร่วมมือ (Collaboration)
  3. การประนีประนอม (Compromising)
  4. การหลีกเลี่ยง (Avoiding)
  5. การยอมให้ (Accommodation)

วิธีดำเนินการวิจัย

การวิจัยเรื่อง “ผู้นำกับการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย”  เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ใช้วิธีการวิเคราะห์ ตีความ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการศึกษาวิจัยดังนี้

1. การค้นคว้าจากเอกสารและงานวิจัย โดยศึกษาในหัวข้อ เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง พ .ศ. 2547-2553

2. การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้นำทางการเมือง และผู้ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นผู้นำทางการเมือง และผู้ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักวิชาการ กลุ่มผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง และ สื่อมวลชน จำนวน 19 คน ได้แก่ คุณเกษม วิศวพลานนท์ คุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล Mr. Jack Dunford พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คุณจตุพร พรหมพันธุ์ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาส พลตำรวจเอก วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ คุณยุวรัตน์ กมเวชช ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ศาสตราจารย์ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ศาสตราจารย์ ดร.ปิยนาถ บุนนาค คุณบุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) คุณวีรบุรุษ อินทรคำแหง คุณชัชวาล ชาติสุทธิชัย ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล และพันเอกดร.อภิวันท์ วิริยะชัย

วิธีการเก็บข้อมูล ผู้วิจัยเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองโดยเข้าพบผู้สัมภาษณ์ ได้บันทึกเทประหว่างการสัมภาษณ์และถ่ายภาพประกอบการสัมภาษณ์

ขอบเขตการวิจัย  ศึกษาเกี่ยวกับ คุณลักษณะ และพฤติกรรมการจัดการความขัดแย้งของผู้นำ และเพื่อศึกษาแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองของผู้นำระหว่าง พ.ศ. 2547 – 2553 และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต

การวิเคราะห์ข้อมูล  ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยการนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาวิเคราะห์ ในส่วนบริบทในด้านการจัดการความขัดแย้งของผู้นำ และวิพากษ์ โดยใช้แนวคิดของ  Jürgen Harbermas  โดยจะนำเนื้อหาในส่วนของด้านพื้นที่สาธารณะทางสังคม มาใช้ในการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ผลการวิจัยและการอภิปรายผล

 

            การศึกษาเรื่อง “ผู้นำกับการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย” การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ ทั้งนี้การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการวิจัยที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่เป็นธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงความหมายในบริบทที่ศึกษา โดยใช้ตัวผู้วิจัยเองเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูล (ชาย โพธิสิตา, 2550) เพื่อดูว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ได้จากการศึกษา สอดคล้องกับข้อมูลเชิงทฤษฎีเพียงใด นอกจากนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร และได้มีการนำมาวิเคราะห์ได้ดังนี้

การศึกษาเรื่อง “ผู้นำกับการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทย ” ผลการวิจัยพบว่า

1. มุมมองของผู้นำต่อการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง   จะเห็นได่ว่าผู้นำฝ่ายต่างๆมองว่า การจัดการความขัดแย้งทางการเมืองสามารถทำได้โดยการกำหนดนโยบาย และออกกฎหมาย ทั้ง พ ร บ ความมั่นคงแห่งชาติ และ และ พ ร ก ฉุกเฉิน ซี่งส่วนใหญ่ใช้ในการจัดการกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมการป้องกันความขัดแย้งหรือมีการกำหนดนโยบายป้องกันในเชิงรุก แต่เป็นการออกนโยบายในการรับมือกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

2.  คุณลักษณะของผู้นำที่เหมาะสมในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่าต้องมีคุณลักษณะเด่น (Trait Theory)  คือ ความฉลาดทางปัญญา (Intelligence) ความมั่นใจในตัวเอง (Self-confidence) อำนาจการตัดสินใจ (Determination) ประพฤติอยู่ในคุณธรรมจริยธรรม (Integrity) และการเข้าสังคม (Sociability)  ทั้งหมดอย่างครบถ้วน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อำนาจการตัดสินใจ  ประพฤติอยู่ในคุณธรรมจริยธรรม (Integrity) เพราะที่ผ่านมาบางรัฐบาลถูกมองว่าเป็นรัฐบาลนอมินี

3.  ระดับทักษะการแก้ปัญหาในการจัดการความขัดแย้งของผู้นำอยู่ในระดับปานกลาง เพราะส่วนใหญ่จะมีการมอบหมายจัดตั้งหน่วยงานทั้ง หน่วยงานที่มีหน้าทีและหน่วยงานเฉพาะกิจให้เข้ามรับผิดชอบปัญหา มากกว่าผู้นำเป็นผู้กำหนดนโยบาย หรือลงมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แต่ในช่วงรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  ได้มีการเจรจาต่อรองกับแกนนำฝ่าย  น ป ช แต่การเจรจาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

  1. พฤติกรรมในการจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมา ทั้ง 5 ด้าน คือ การเอาชนะ (Competition)

การร่วมมือ (Collaboration)  การประนีประนอม (Compromising) การหลีกเลี่ยง (Avoiding) และการยอมให้ (Accommodation)  พบว่าส่วนใหญ่ลักษณะพฤติกรรมเป็นรูปแบบการเอาชนะกันของฝ่ายต่างๆ ส่วนรูปแบบการประนีประนอม ไม่สามารถจะนำมาใช้ได้ ในด้านของรูปแบบการยอมให้บ้าง ซึ่งเป็นส่วนน้อย จึงส่งผลให้ความขัดแย้งได้ขยายตัวลุกลาม

5.ปัญหาในด้านความไว้วางใจในตัวผู้นำ ส่งผลกระทบมาก ทำให้แต่ละฝ่ายไม่สามารถเจรจากันได้  ความขัดแย้งจึงได้ขยายตัวลุกลาม จนทำให้ไม่สามารถนำวิธีการเดิมที่เคยใช้แก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งจึงยังคงอยู่  ซึ่งผู้นำที่มีบทบาทหลักคือนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ถูกมองว่าเป็นคนสำคัญที่จะใช้อำนาจในการตัดสินใจเพื่อดำเนืนการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง

6.แนวทางในการดำเนินนโยบายและการให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน โดยมองจากโครงสร้างการแปลงรูปของพื้นที่สาธารณะ (The Structural transformation of the Public Sphere) Jürgen Harbermas (1991)  คือควรมีการออกนโยบายในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองโดยแยกระหว่างกลุ่ม คือกลุ่มนักการเมือง กลุ่มผู้นำหรือแกนนำทางการเมือง และประชาชนผู้ร่วมชุมนุม โดยกำหนดนโยบายจากการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มีพื้นที่สาธารณะของการสื่อสารแบบ 2 ทาง คือการให้ข้อมูลย้อนกลับจากภาคประชาชนสู่รัฐ  โดยการกำหนดโครงสร้างนโยบายเพื่อให้เกิดสังคมของพื้นที่สาธารณะ (social structure of the public sphere) รวมถึงต้องกำหนดบทบาททางโครงสร้างการเมืองและ ความเป็นกลางโดยสร้างช่องทางการสื่อสาร ทั้งนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมของพื้นที่สาธารณะ (The Social-Structural Transformation of the Public Sphere) จากเดิมที่เคยมีอยู่   ส่วนการเปลี่ยนแปลงของบทบาททางการเมืองของพื้นที่สาธารณะ (The transformation of the Public Sphere’s Political Function) ก็ควรสร้างความร่วมมือกับสื่อของชุมชนอีกทางหนึ่ง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการกำหนดนโยบายการจัดการความขัดแย้งทางการเมิอง

 

สรุป

สรุปผลการวิจัย ได้ว่า

1.     มุมมองของผู้นำต่อการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง คือการนำนโยบายจากภาครัฐมาปฏิบัติโดยบังคับใช้กฏหมาย

2.     คุณลักษณะของผู้นำที่เหมาะสมในการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ต้องกล้าตัดสินใจและผู้นำต้องมีคุณธรม จริยธรม

3.     ระดับทักษะการแก้ปัญหาในการจัดการความขัดแย้งของผู้นำอยู่ในระดับปานกลาง แต่จะมอบหมายการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้หน่วยงานที่มีหน้าทีและหน่วยงานเฉพาะกิจ

4.     พฤติกรรมของผู้นำในการจัดการความขัดแย้งที่ผ่านมา มีลักษณะเป็นการเอาชนะกัน

5.     ปัญหาในด้านการไว้วางใจในตัวผู้นำที่มีบทบาทในการจัดการความขัดแย้ง ผู้นำ ส่งผลกระทบมาก ทำให้แต่ละฝ่ายไม่สามารถเจรจากันได้

6.     แนวทางในการดำเนินนโยบายและการให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ควรกำหนดนโยบายการจัดการความขัดแย้งโดยมีการสื่อสารจากภาครัฐสู่ประชาชนและเปิดพื้นที่สาธารณะทางการเมืองในการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนได้แสดงความหคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง

 

 

 

 

 

 

ข้อเสนอแนะ

 

  1. รัฐบาลควรพิจารณาจากมุมมองในการจัดการความขัดแย้งด้านอื่นๆนอกเหนือจากการนำกฏหมายมาบังคับ

ใช้โดยอาจนำการวิธีการเจรจาภายในฝ่ายบริหาร ที่นอกเหนือจากการประชุมสภาแต่เป็นการระดมความคิดระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหาจุดร่วม ในการดำเนินการจัดการความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น

  1. ผู้นำทางการเมืองควรบริหารโดยต้องคำนึงถึงคุณธรรม จริธรรมโดยยึดหลักนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาล เป็นอันดับหนึ่ง อย่าอ้างกฏหมายที่เอื้อต่อประโยชน์ฝ่ายตนเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินการใดๆ อันจะก่อให้เกิด ความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นในสังคมอย่างรุนแรง
  1. ผู้นำควรศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการจัดการความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลาม

ของความรุนแรง และเพื่อที่จะใช้ทักษะที่ถูกต้องตามหลักการเพื่อทำให้การจัดการความขัดแย้งมีประสิทธิภาพ

  1. ผู้นำอาจต้องปรับเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมในการจัดการความขัดแย้ง โดยอย่าเพียงหวังผลในการ แพ้ ชนะ

ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาของสังคมในระดับมหภาค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแก้แค้นของฝ่ายต่างๆ

5.    รัฐบาลควรสร้างความไว้วางใจให้คนในสังคมโดย มุ่งแก้ไขไปที่เหตุของปัญหาที่แท้จริง มากกว่าเน้นปัญหาไปที่ตัวบุคคล หรือนำบุคคลมาเป็นหลักในการแก้ปัญหา แต่ควรใช้ระบบและหลักการจัดการที่ถูกต้อง จะทำให้ ประชาชนยอมรับในเหตุผล และเชื่อในระบบและวิธีการจัดการปัญหา เพื่อทำให้เกิดการยอมรับจากสังคม

6.    ควรเปิดให้มีพื้นที่สาธารณะทางการเมืองรวมถึงพื้นที่ทางการสื่อสารของอินเตอร์เนต ที่ปลอดจากการควบคุมจากอำนาจของรัฐ เพื่อให้เกิดส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง และจัดให้มีการสื่อสารแบบสองทาง (Two way communication) ในเรื่องของการออกนโยบายต่างๆที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และจะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบพระคุณ ท่าน รศ.ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นอย่างสูงที่ให้โอกาสได้ทำงานวิจัยโดยให้อิสระทางความคิด และได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ขอขอบพระคุณ   รศ.ดร. สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ และ ดร.ฉัตรวรัญ  องคสิงห์  ที่ได้ รับฟังและให้คำเสนอแนะในมุมมองการทำวิจัย และ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทุกท่าน ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และให้คำแนะนำที่ดีเสมอมา รวมถึง

นอกเหนือจากนี้ขอขอบพระคุณท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางการเมืองในด้านต่างๆ ทั้ง 19 ท่าน ได้แก่ คุณเกษม วิศวพลานนท์ คุณดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล Mr. Jack Dunford พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คุณจตุพร พรหมพันธุ์ พลเอก เอกชัย ศรีวิลาส พลตำรวจเอก วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ คุณยุวรัตน์ กมเวชช ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ศาสตราจารย์ นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ศาสตราจารย์ ดร.ปิยนาถ บุนนาค คุณบุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่) คุณวีรบุรุษ อินทรคำแหง คุณชัชวาล ชาติสุทธิชัย ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ รองศาสตราจารย์ ดร.โภคิน พลกุล และพันเอกดร.อภิวันท์ วิริยะชัย ที่ได้กรุณา เสียสละอันยิ่งใหญ่ในการให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล

ขอกราบขอบพระคุณในความกรุณาจากทุกท่าน

จารวี ภักดีดำรงกุล

พฤศจิกายน  2556

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

ชาย โพธิสิตา. ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ (ปรับปรุง พิมพ์ครั้งที่ 4).—กรุงเทพฯ : อมริมทร์พริ้นติ้งฯ, 2552.

ไชยรัตน์  เจริญสินโอฬาร. “สุนทรียศาสตร์กับการเมืองภาคประชาชน.”  รายงานวิจัยสุนทรียศาสตร์กับการเมืองภาคประชาชน. คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552.

วันชัย  วัฒนศัพท์, ศาสตราจารย์. 2550. ความขัดแย้ง : หลักการและเครื่องมือแก้ปัญหา.

สถาบันพระปกเกล้า. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า.

เสริมศักดิ์  วิศาลาภรณ์, ศาสตราจารย์. 2540.  ความขัดแย้งการบริหารเพื่อความสร้างสรรค์.กรุงเทพมหานคร: บริษัท ต้นอ้อ  แกรมมี่ จำกัด.

______. รายงานฉบับสมบูรณ์ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กรกฎาคม 2553- กรกฎาคม 2555.  (Online) http://www.uthaisak.info/2553full.htm,  1 กรกฎาคม 2556

             .  2552. วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พ.ศ. 2548-2553. (Online).     http://th.wikipedia.org/wiki, 9 กรกฎาคม 2553

Andrew J. Dubrin. 2001. Leadership : Research Findings, Practice, and Skills.  Boston New York : Houghton Mifflin Company.

Catherine  Morris. 2004. Managing Conflict in Health Care Setting. นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า

Daniel  Goleman, Richard Boyatzis, Annie Mckee. 2002.  The New Leaders : Transforming the art of leadership into the science of results.___:  Time Warner Paperbacks.

Gary  Yukl. 1994. Leadership in Organizations.  Third Edition.  New Jersey : Prentice Hall International, Inc.

Goldsmith, Marshall. 2010. The  AMA handbook of leadership.  U.A.S. : American Management Association.

James C. Shaffer.  2000.  The Leadership Solution. U.S.A. : McGraw-Hill, Inc.

James G. Hunt. 1932.  Leadership : a new synthesis.  Newbury Park London New Delhi : Sage Publications, Inc.

Jürgen Habermas. 1991. The Structural Transformation of the Public Sphere :

 An Inquiry into a Category of Bourgeois Society. The MIT Press, Cambridge Massachusetts.

Peter J. Reed. 2001. Extraordinary Leadership Creating Strategies For Change. __ : Kogan Page.

Robert R. Blake, Anne Adams McCanse.  1918.  Leadership dilemmas-Grid solutions. Houston. London, Paris, Zuris, Tokyo : Gulf Publishing Company


[1] นักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

บริษัทเกษตรศิลป์อินเตอร์เนชั่นแนล 11 ซอย สามัคคี 63 ถนน สามัคคี ตำบล ท่าทราย อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี 11000

Kasetsil International 11 Samakkee 63 Samakkee,Rd Tasai Muang Nonthaburi 11000

e-mail address: [email protected]